วันพฤหัสบดีที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2552

สัปดาห์ที่8 การทำหุ่นจำลองเพื่อการออกแบบภายใน

การทำหุ่นจำลองเพื่อการออกแบบภายใน
Feb 5, '08 2:27 PMfor everyone
การทำหุ่นจำลองเพื่อการออกแบบภายใน
วัฒนา จิวะอนันต์

หุ่นจำลองหรือโมเดล (Models) โดยส่วนใหญ่แล้วเป็นเครื่องมือสำหรับงานออกแบบสถาปัตยกรรม ซึ่งสามารถใช้อธิบายถึงขนาดสัดส่วนระยะ ที่ว่าง (Space) ที่เกิดขึ้นในงานออกแบบ หรือรายละเอียดต่างๆของตัวอาคารได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ และยังช่วยในการนำเสนอผลงานเพื่อให้ลูกค้าและคนทั่วไปที่ไม่มีพื้นฐานทางด้านการออกแบบ ได้เข้าใจอย่างครบถ้วนสมบูรณ์
แต่สำหรับงานออกแบบภายใน หุ่นจำลองมักจะถูกมองข้ามเสมอเนื่องจากการนำเสนอผลงานออกแบบภายในนั้นมักจะนำเสนอด้วยเทคนิคการเขียนทัศนียภาพ (Perspective) ที่สามารถแสดงให้เห็นถึงขนาดสัดส่วน ที่ว่าง รูปร่าง สีสัน พื้นผิว แสงและบรรยากาศ ซึ่งเป็นสิ่งที่งานออกแบบภายในส่วนใหญ่ต้องการนำเสนอ ด้วยวิธีการต่างๆเช่น การเขียนภาพลายเส้น ลงสีน้ำ สีหมึก และเทคนิคคอมพิวเตอร์ ที่ปัจจุบันสามารถนำเสนอได้ใกล้เคียงภาพจริงจนแทบจะแยกไม่ออกระหว่างภาพจริงและภาพที่สร้างขึ้นด้วยเทคนิคคอมพิวเตอร์
แต่สำหรับงานออกแบบภายในที่มีความสลับซับซ้อน เกี่ยวข้องกับโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมนั้นการเขียนทัศนียภาพอย่างเดียวไม่สามารถอธิบายได้ถึงแนวความคิด ที่ว่าง และโครงสร้าง ที่เกิดขึ้นในงานได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์การทำหุ่นจำลองนั้นจึงมักเป็นทางออกที่ดีที่จะสามารถใช้อธิบายแสดงความเข้าใจ ถึงมิติของที่ว่างได้ดีกว่ารูปทัศนียภาพ

ช่วงการนำเสนอแนวความคิดในการออกแบบ (Conceptual design)
หุ่นจำลองในช่วงนี้จะแสดงถึงแนวความคิดในการออกแบบ อาจเป็นกึ่งประติมากรรมเพื่อแสดงให้แสดงแนวความคิดออกมาได้อย่างเต็มที่ โดยอาจจะเกี่ยวข้องกับโครงสร้างหรือไม่ก็ได้หรืออาจทำเพื่อศึกษาโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม ก่อนที่จะเริ่มทำการออกแบบภายใน ซึ่งอาจไม่มีรายละเอียดมากนัก เป็นการทำเพื่อแสดงความเข้าใจต่อแนวความคิด และโครงสร้างก่อนเริ่มต้นทำการพัฒนาแบบ

ช่วงแบบร่างขั้นต้น (Preliminary design)
หุ่นจำลองจะแสดงถึงแนวความคิดที่ประสานเข้าไปในโครงสร้างของสถาปัตยกรรม แสดงถึงที่ว่าง ที่เกิดจากแนวความคิดและการแก้ปัญหาที่เกิดจากโครงสร้างทางสถาปัตยกรรม หากเป็นงานต่อเติม ดัดแปลงอาคารหรือรื้อถอน ก็สามารถแสดงให้เห็นได้ในขั้นตอนนี้

ช่วงพัฒนาแบบ (Design development)
เป็นการทำหุ่นจำลองที่แสดงรายละเอียดมากขึ้น ก้อนที่ว่างที่ชัดเจนขึ้นในส่วนต่างๆ แสดงคุณสมบัติของวัสดุบางประเภทได้เช่น กระจกใส โปร่ง ผนังทึบ การเชื่อมที่ว่างทั้งแนวตั้งและแนวนอน การวางทิศทางของประโยชน์ใช้สอยในส่วนต่างๆ มิติของที่ว่าง แสงเงา หากเป็นงานปรับเปลี่ยนประโยชน์ใช้สอยของตัวอาคารก็สามารถแสดง ให้เห็นถึงการปิดทึบ หรือเปิดช่องแสงที่เข้ามาจากภายนอกได้ เพื่อสื่อหรืออธิบายถึงแสงที่จะเกิดขึ้นภายในงานออกแบบภายในได้

ช่วงออกแบบรายละเอียด (Detail design)
หุ่นจำลองอาจมีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อแสดงรายละเอียดที่มากขึ้น ในงานออกแบบภายใน แสดงถึงที่ว่างเฉพาะส่วนสำคัญต่างๆภายในงานออกแบบภายใน หรือแสดงกลไกภายในงานเพื่อศึกษาและแสดงความเข้าใจต่อรายละเอียดต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง

การทำหุ่นจำลองในขั้นตอนต่างๆที่ได้กล่าวมาในข้างต้น บางขั้นตอนอาจไม่มีความจำเป็นสำหรับงานบางประเภท แล้วแต่ลักษณะของงานและสิ่งที่ต้องนำเสนอ โดยนักออกแบบจะต้องเลือกเทคนิคในการนำเสนอที่เหมาะสมกับลักษณะงานของตนเองให้มากที่สุด โดยการหุ่นจำลองในลักษณะของงานออกแบบภายในแล้ว อาจมีความจำเป็นที่ต้องทำในมาตรส่วนที่ใหญ่มากกว่าในงานสถาปัตยกรรม และอาจจะต้องเลือกเปิดผนังหรือเพดานบางส่วนหรือแสดงในลักษณะของรูปตัด (Section) เนื่องจากงานออกแบบภายในเป็นงานที่ไม่ได้อยู่ภายนอก ไม่สามารถแสดงให้เห็นโดยรอบได้จึงจำเป็นต้องเลือกเปิดหุ่นจำลองบางส่วนเพื่อดูลักษณะงานภายในได้ โดยไม่มีความจำเป็นที่ต้องทำหุ่นจำลองให้มีสีหรือพื้นผิวเหมือนจริง เพราะว่าอาจทำให้เกิดการเข้าใจผิด ซึ่งเทคนิคการเขียนทัศนียภาพก็สามารถแสดงถึงรายละเอียดของวัสดุได้ดีกว่าหุ่นจำลอง ในหุ่นจำลองอาจมีการเพิ่มหลอดไฟภายในหุ่นเพื่อแสดงถึงการจัดแสงภายในงานได้ การทำหุ่นจำลองในงานออกแบบภายในส่วนใหญ่ จึงเป็นการแสดงให้เห็นถึงโครงสร้างที่เกี่ยวข้องกับงานสถาปัตยกรรม การแสดงก้อนที่ว่าง การเชื่อมก้อนที่ว่างทั้งในแนวตั้งและแนวนอน ซึ่งหุ่นจำลองสามารถอธิบายสิ่งต่างๆเหล่านี้ได้ดีกว่าการเขียนทัศนียภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น